Custom Search By Google

Custom Search

ฟีลิปปี 4:13
ข้าพเจ้าผจญทุกสิ่งได้ โดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า

Philippians 4:13
I can do all things in him that strengtheneth me.

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผิดด้านผิดทาง

วันที่ 24/2/2011

ก๊าก ก๊าก ก๊าก!!!…ขออนุญาตขำก่อนนะคะ ก็คุณครูแมมนะสิ วันก่อนนี้โทรศัพท์คุยกัน คุยไปคุยมาเสียงก็ยิ่งเบาลง เบาลง จนแทบจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ครูแมมก็บอกว่า “พูดดังขึ้นหน่อย ครูแมมไม่ค่อยได้ยิน” ฉันก็พยายามพูดดังขึ้น แต่ก็ต้องบอกครูแมมด้วยว่า “ครูแมมพูดดังขึ้นหน่อยสิคะ” เรื่องที่คุยกันก็จับใจความได้คะ แต่ว่าวิธีที่ดีที่สุดก็วางสายกันไปก่อนละกัน

วันรุ่งขึ้นครูแมมก็เฉลยว่า สาเหตุที่คุยกันไม่ค่อยได้ยินนั้นเป็นเพราะว่าครูแมมถือโทรศัพท์ผิดด้าน! (แป่ว)
ครูแมมบอกว่าเอาเรื่องของครูแมมไปเขียนได้นะ เพราะว่าเหตุการณ์และผู้คนรายรอบตัวเรา ล้วนมีเรื่องราวให้เราฉุกคิดได้ทั้งนั้น ครูแมมกล่าวว่า “เมื่อมาคิดถึงชีวิตหลายๆ ครั้งเราก็ทำอะไรผิดทาง โดยเฉพาะความคิด แทนที่จะคิดบวก เรากลับคิดลบ จะทำอะไรก็ต้องใช้อวัยวะให้ถูกต้องตามหน้าที่ เอาปากฟัง เอาหูพูดจึงยุ่งกันเจรจาไม่รู้เรื่องเลย”

ฉันเลยได้โอกาสนำเรื่องครูแมมมาเป็นบทเรียนสำหรับตัวเองอีกครั้งหนึ่ง

เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ เราจึงไม่สมบูรณ์ เราจึงมีข้อบกพร่องผิดพลาดหลายประการ ทั้งความไม่สมบูรณ์ในด้านลักษณะนิสัย ด้านความรู้ความสามารถ และด้านอื่นๆ อีกหลายประการ คนเราผิดพลาดผลั้งเผลอได้ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่ ความผิดพลาดบางประการก็แก้ไขได้ บางประการก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ความผิดพลาดบางประการจึงเป็นเรื่องขำๆ ในขณะที่ความผิดพลาดบางประการก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือทรัพย์สินกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี เราขอบคุณพระเจ้าที่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระบิดาผู้ทรงสมบูรณ์งดงามหมดจดทุกประการ ทรงบริบูรณ์ด้วยความยิ่งใหญ่ พระสิริ ชัยชนะ ความโอ่อ่าตระการ พระคุณ ความรัก และอีกนับไม่ถ้วน ดังนั้น โดยลำพังผงคลีดินอย่างเราจึงไม่สามารถเข้าไปถึงพระบิดาได้ ทว่า เราก็ขอบคุณพระเจ้าอีกนั่นแหละที่พระองค์ทรงมีทางเลือกให้กับเรา เพื่อให้สามารถไปถึงพระองค์ได้ “โดยพระเยซู”
[ยน.14:6 พระเยซูตรัสกับเขาว่า "เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต ไม่มีผู้ใดมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา]

ในทางอื่นๆ เราอาจจะมีผิดพลาดหรือบกพร่องบ้าง แต่ในทางสวรรค์ เรามาถูกทางแล้ว! ฮาเลลูยา!!!

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พระพรแห่งความเจ็บปวด

วันที่ 11/02/2011

“พระเจ้าทรงอยู่ที่ไหนในเวลาที่เราเจ็บปวด” (Where Is God When It Hurts?) เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ฉันประทับใจมาก ทุกครั้งที่ย้อนกลับไปอ่านก็ได้รับพระพรเสมอ จะว่าไปแล้ว ฉันชื่นชอบผลงานทุกชิ้นของ ฟิลิป แยงซี เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น “พระเยซูที่ฉันไม่เคยรู้จัก” (The Jesus I never knew), พระคุณที่ฉันไม่เคยรู้จัก (What’s so Amazing About Grace) หรือแม้แต่ “พระคัมภีร์ที่ฉันไม่เคยรู้จัก” (The Bible Jesus Read) ทั้งนี้ ฉันเชื่อว่ายังมีผลงานของฟิลิป แยงซี อีกมากมายที่ฉันไม่เคยรู้จัก (ฮา)

ช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องราวแห่งความเจ็บปวดผ่านเข้ามาให้ได้รับรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย พี่น้องที่บากบั่นในการทำธุรกิจ พี่น้องที่ปล้ำสู้กับความรัก พี่น้องที่มีปัญหาเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องความสัมพันธ์ พี่น้องที่ถูกมรสุมร้ายกระหน่ำในรูปแบบต่างๆ พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ พี่น้องที่ชุมนุมประท้วงทั้งในและต่างประเทศ หรือแม้แต่ปัญหาการสู้รบเรื้อรังบริเวณภาคใต้ และล่าสุดคือ การสู้รบระหว่างไทยกับกัมพูชา ฯลฯ

ความเจ็บปวดที่แม้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับเรา แต่เรามีบรรพบุรุษเดียวกัน ทั้งยังเป็นบุตรร่วมกันกับพระคริสต์อีกด้วย ฉะนั้น เราจึงรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของพี่น้อง…เร็วๆ นี้ พี่เป้ พี่สาวที่รักในพระคริสต์ก็ส่งเสียงมาจากเดนมาร์ก ขอให้ช่วยอธิษฐานเผื่อลูกแกะคนหนึ่ง พี่เป้รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่ลูกแกะได้ประสบ ร้องไห้สะอึกสะอื้นข้ามทวีปกันเลยทีเดียว ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงโปรดให้เราเป็นผู้เลี้ยง ทั้งยังให้เราเลียนแบบอย่างจากองค์พระเยซูด้วย

Where Is God When It Hurts? เป็นเรื่องราวของผู้เชื่อจำนวนหนึ่งที่ประสบกับความเจ็บปวดในรูปแบบต่างๆ ซึ่งทำให้เราได้เห็นกระบวนการก้าวผ่านความเจ็บปวดของพี่น้องเหล่านั้น จนได้เห็นพระพรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความเจ็บปวดนั้น ฟิลิปอธิบายว่ากลไกของความเจ็บปวดในร่างกายมนุษย์เปรียบเสมือนกับระบบเตือนภัยให้กับเรา เป็นเครื่องจับสัญญาณความเจ็บปวดเตือนภัยต่อร่างกายว่ามันเจ็บ และบังคับให้หันไปสนใจตรงบริเวณที่เจ็บนั้น

หลายคนรู้สึกขอบคุณพระเจ้าสำหรับความเจ็บปวดที่เขาได้รับ เช่น คนที่นอนหลับสนิทอยู่ในบ้านที่ไฟกำลังไหม้ลุกลาม ต้องรีบตื่นขึ้นมาเพราะรู้สึกถึงความร้อนของเปลวไฟ หรือเด็กที่รีบชักมือออกจากเต้าเสียบได้ทันเวลาเพราะสัมผัสว่ามีไฟดูด เป็นต้น ความเจ็บปวดจึงไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้าไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าหรือเป็นความผิดพลาดของพระเจ้า แต่เป็นการออกแบบอย่างดีเยี่ยมเพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ ความรู้สึกเจ็บปวดเป็นสิ่งจำเป็น หากปราศจากความรู้สึกเจ็บ ชีวิตอาจเต็มไปด้วยอันตราย

ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะโรคเรื้อนเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้ เมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลายก็ไม่รู้สึก แผลก็ยิ่งลุกลาม มีหนูมาแทะเนื้อจนหมดก็ไม่รู้สึกเช่นกัน เนิ่นนานไปโรคร้ายก็ยิ่งลุกลามจนยากที่จะเยียวยาหรือท้ายที่สุดก็ไม่อาจยื้อยุดชีวิตเอาไว้ได้

จริงๆ แล้วคงไม่มีใครอยากเจ็บปวด ทว่า ในเมื่อความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความเจ็บปวดนั้น

พระเยซูก็ทรงเจ็บปวดเช่นกัน ทรงสงสารลูกแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง ทรงสงสารคนยากจน คนเจ็บป่วย คนที่สังคมไม่ยอมรับ ทรงพระกันแสงเพราะการตายของลาซารัส การอธิษฐานที่สวนเกทเสเมนี พระราชกิจที่โกละโกธา และอีกมากมายที่ฉันกล่าวถึงไม่หมดในที่นี้ แต่เพียงเท่านี้ก็ชี้ให้เห็นว่าความเจ็บปวดไม่ใช่ความผิดพลาดของพระเจ้า ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะขอบคุณพระเจ้าและรับพระพรจากความเจ็บปวดนั้น

หากมองย้อนไปถึงบุคคลในพระคัมภีร์ เราจะพบกับบุคคลที่เผชิญกับความเจ็บปวดจำนวนมาก แต่บุคคลหนึ่งที่โดดเด่นคือ “โยบ” ซึ่งพบกับความเจ็บปวดในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ด้านครอบครัว การงาน ทรัพย์สิน ความสัมพันธ์ แต่โยบก็กล่าวอย่างเต็มภาคภูมิว่า "ข้าพเจ้ามาจากครรภ์มารดาของข้าพเจ้าตัวเปล่า และข้าพเจ้าจะกลับไปตัวเปล่า พระเจ้าประทาน และพระเจ้าทรงเอาไปเสีย สาธุการแด่พระนามพระเจ้า" [โยบ.1:21]

พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าตั้งแต่นิรันดร์กาลจนถึงนิรันดร์กาล เป็นพระเจ้าผู้ทรงรัก ทรงพระกรุณาและทรงพระคุณ ทรงเหมือนเดิมเสมอไม่เปลี่ยนแปลง ทรงสถิตอยู่กับเราเสมอ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า “พระเจ้าทรงอยู่ที่ไหนในเวลาที่เราเจ็บปวด” แต่ประเด็นสำคัญคือ “ความเชื่อของเราอยู่ที่ไหนในเวลาที่เราเจ็บปวด” เราจะตอบสนองอย่างไรต่อความเจ็บปวดนั้น (ฟิลิป แยงซี)